ประเมินความสามารถในการกู้บ้าน [เงินเดือนเท่านี้ กู้ได้เท่าไหร่?]

วิธีการประเมินความสามารถในการกู้บ้านจะคิดจากอะไรบ้าง? แล้วเงินเดือนของคุณ จะกู้ได้ประมาณเท่าไร ในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีประเมินเบื้องต้นให้

ขอขอบคุณบทความจาก GHBank

สำหรับคนที่มีแผนอยากซื้อบ้านหรืออยากสร้างบ้าน หนึ่งในข้อสงสัยก็คือ “เงินเดือนเท่านี้ จะสามารถกู้ได้เท่าไหร่” หรืออยากประเมินความสามารถในการกู้บ้านของตัวเอง เพื่อที่จะได้ประเมินราคาบ้านที่จะซื้อหรือกะเกณฑ์งบประมาณในการสร้างบ้านได้เหมาะสมกับวงเงินที่จะได้

โดยความสามารถในการกู้บ้านนั้น จะเป็นสิ่งที่ธนาคารเป็นผู้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ หากตัวผู้กู้รู้ว่าเกณฑ์การคิดมาจากอะไรบ้าง ก็สามารถประเมินความสามารถในการกู้ของตัวเองก่อนได้ รวมถึงหาวิธีเพิ่มความสามารถทางการเงินให้กู้สินเชื่อบ้านในวงเงินที่มากขึ้นได้ด้วย 

วิธีการประเมินความสามารถในการกู้บ้านจะคิดจากอะไรบ้าง แล้วเงินเดือนของคุณ จะกู้ได้ประมาณเท่าไร แนะนำวิธีคิดด้านล่างนี้

ความสามารถในการกู้บ้าน คืออะไร ธนาคารคิดจากอะไรบ้าง?

ความสามารถในการกู้บ้าน คืออะไร ธนาคารคิดจากอะไรบ้าง? 

ความสามารถในการกู้บ้าน คือ สิ่งที่ธนาคารจะประเมินว่า ผู้กู้มีความสามารถในการกู้ได้มากเท่าไร โดยดูจากรายได้และรายจ่ายประจำของผู้กู้เป็นหลัก ยิ่งผู้กู้มีความสามารถในกู้มากเท่าไร ก็หมายถึงวงเงินที่อาจจะได้รับอนุมัติจากธนาคารสูงขึ้น ผู้กู้หลายรายจึงต้องการประมาณการว่า ตัวเองมีความสามารถในการกู้สินเชื่อบ้านและน่าจะได้รับวงเงินเท่าไร เพื่อนำไปใช้มองหาบ้านในราคาหรือกำหนดงบประมาณสร้างบ้านที่เหมาะสมกับวงเงิน 

แล้วความสามารถในการกู้บ้าน ธนาคารดูจากอะไร?

ธนาคารโดยทั่วไปจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. ประมาณการรายได้ต่อเดือน
  2. ประมาณการภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อเดือน
  3. ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน 

ซึ่งการแสดงตัวอย่างการประเมินความสามารถในการกู้บ้าน เป็นอัตราส่วนที่ใช้สำหรับการประมาณการรายได้ การประมาณการหนี้สิน และความสามารถในการผ่อนชำระด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่อัตราส่วนที่อ้างอิงจากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคิดอาจแตกต่างไปตามแต่ละธนาคาร 

1. ประมาณการรายได้ต่อเดือน

แน่นอนว่า ปัจจัยแรกที่ธนาคารจะนำมาพิจารณาก็คือ รายได้ ซึ่งไม่เพียงแค่เงินเดือนเท่านั้น แต่รายได้จากช่องทางต่างๆ ธนาคารจะนำมาพิจารณาเป็นรายได้รวมของผู้กู้ให้ โดยรายได้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่ 

  1. รายได้คงที่ หมายถึง รายได้ที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือนหรือมีหลักฐานรับรองรายได้ เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าครองชีพ
  2. รายได้ไม่คงที่ หมายถึง รายได้ที่อาจจะได้รับ หรือไม่ได้รับ หรือได้รับไม่เท่ากันทุกเดือน เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าบริการ ค่าคอมมิชชั่นยอดขายสินค้า เบี้ยขยัน ฯลฯ ซึ่งรายได้เหล่านี้ ธนาคารจะคิดเป็นค่าเฉลี่ยและนำมาคำนวณเพียงบางส่วน (ไม่นำมาคำนวณเต็มจำนวน)

ตัวอย่างการคำนวณประมาณการรายได้

  • เงินเดือน : 100%
  • รายได้อื่นๆ ที่ระบุในสลิปเงินเดือน : 100%
  • รายได้ไม่คงที่ (เป็นรายได้ที่ได้รับต่อเนื่อง : คิดเป็นค่าถัวเฉลี่ย) : 50%
ตัวอย่างการคำนวณประมาณการรายได้ (ต่อเดือน)
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณการรายได้ต่อเดือน
เงินเดือน 25,000 บาทคิด 100% = 25,000 บาท
รายได้อื่นๆ ที่ระบุในสลิปเงินเดือน เช่นเงินประจำตำแหน่ง 1,000 บาทค่าครองชีพ 1,000 บาทคิด 100% = 2,000 บาท
รายได้ไม่คงที่ (เป็นรายได้ที่ได้รับต่อเนื่อง : คิดเป็นค่าถัวเฉลี่ย) เช่นค่าคอมมิชชั่น 8,583 บาทค่าล่วงเวลาเฉลี่ย 1,500 บาทเบี้ยขยัน 1,000 บาทรายได้จากการขายของออนไลน์ 2,000 บาท คิด 50% = 13,083 บาท x 50% = 6,541.50 บาท
รวมประมาณการรายได้ทั้งสิ้น25,000 + 2,000 + 6,541.50 = 33,541.50 บาท

*หมายเหตุ: อัตราส่วนการประมาณการรายได้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแต่ละธนาคารกำหนด

2. ประมาณการหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือน

ปัจจัยต่อมาที่ธนาคารจะนำมาใช้ประเมินความสามารถในการกู้ ก็คือ ภาระหนี้สินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดของผู้กู้ โดยธนาคารจะนำภาระหนี้สินของผู้กู้ไปหักกับรายได้ จึงจะสามารถประเมินวงเงินให้กับผู้กู้ได้

ตัวอย่างการคำนวณประมาณการหนี้สิน

  • ผ่อนสินเชื่อบ้าน : 100% (จากอัตราผ่อนแต่ละเดือน หากเหลือ 3 งวดสุดท้าย ไม่คิด)
  • ผ่อนรถยนต์/รถมอเตอร์ไซค์ : 100% (จากอัตราผ่อนแต่ละเดือน หากเหลือ 3 งวดสุดท้าย ไม่คิด)
  • บัตรเครดิต : 10% (จากยอดคงเหลือล่าสุด) 
  • บัตรกดเงินสด : 5% (จากยอดคงเหลือล่าสุด) 
ตัวอย่างการประมาณการหนี้สิน (ต่อเดือน)
ภาระผ่อนหนี้สินต่อเดือนประมาณการรายจ่ายต้องผ่อนต่อเดือน
ค่าผ่อนบ้าน 8,000 บาทคิด 100% = 8,000 บาท
ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ 2,500 บาท คิด 100% = 2,500 บาท
บัตรเครดิต 30,000 บาทคิด 10% = [30,000 x 10%] = 3,000 บาท
รวมประมาณการรายจ่าย8,000 + 2,500 + 3,000 = 13,500 บาท

*หมายเหตุ: อัตราส่วนการประมาณการหนี้สิน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแต่ละธนาคารกำหนด

3. ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน 

ปัจจัยข้อสุดท้ายที่ธนาคารจะใช้ประเมินความสามารถทางการเงินของผู้กู้ คือ “ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน” ซึ่งจะนำทั้ง 1) ประมาณการรายได้ และ 2) ประมาณการรายจ่ายต้องผ่อน มาคำนวณด้วย 

โดยความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ธนาคารแต่ละที่จะกำหนดตั้งแต่ 40% – 70%* ของรายได้หลังหักภาระหนี้สินต่างๆ ออกแล้ว

*หมายเหตุ: อัตราส่วนความสามารถในการผ่อนชำระขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด

สูตรคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ (กรณีธนาคารกำหนดความสามารถที่ 50%)

[รายได้ x 50%] – หนี้สินทั้งหมด = ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้สูงสุด

ยกตัวอย่างการคำนวณ

  • ประมาณการรายได้ = 33,541.50 บาท
  • ประมาณการรายจ่ายหนี้สิน = 13,500 บาท

∴ ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ได้ [33,541.50 x 50%] – 13,500 = 3,270.50 บาท

ทั้งนี้ หากผู้กู้เตรียมตัวกู้ซื้อบ้าน สะสางหนี้สินต่างๆ จนหมด ก็จะมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มวงเงินสูงสุดที่จะได้ ยกตัวอย่างเช่น รายได้เฉลี่ย 33,541.50 บาท x 50% = 16,770.75 บาท

วิธีประเมินความสามารถในการกู้ หรือ คำนวณวงเงินกู้บ้าน

วิธีประเมินความสามารถในการกู้ หรือ คำนวณวงเงินกู้บ้าน

วิธีการประเมินความสามารถในการกู้โดยทั่วไป ธนาคารจะใช้ อัตราผ่อน 7,000 : วงเงินกู้ 1,000,000 บาท* ซึ่งผู้กู้สามารถนำมาคำนวณหาวงเงินกู้บ้านที่น่าจะได้รับกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ด้วยสูตรนี้ 

(ความสามารถในการชำระหนี้ x 1,000,000) ÷ 7,000 = ยอดวงเงินกู้

ยกตัวอย่างการคำนวณ

(3,270.75 x 1,000,000) ÷ 7,000 = 467,250

จากตัวอย่างข้างต้น ผู้กู้อาจได้วงเงินกู้บ้านจำนวน 467,250 บาท

หรือในกรณีที่ไม่มีภาระหนี้สิน คำนวณวงเงินกู้สูงสุดได้ (16,770.75 x 1,000,000) ÷ 7,000 = 2,395,821 บาท

ดังนั้น หากผู้กู้ต้องการวงเงินในการกู้ซื้อบ้านที่สูงขึ้น จึงควรสะสางหนี้สินต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด

เงินเดือนเท่านี้ สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้สูงสุดเท่าไหร่

สรุปแล้ว เงินเดือนของคุณ สามารถกู้สินเชื่อได้วงเงินสูงสุดที่เท่าไหร่ หากประเมินจากรายได้คร่าวๆ ในกรณีที่ไม่มีหนี้สินอะไร ธอส. ประมาณการวงเงินสินเชื่อบ้านให้ โดยมีขั้นตอนในการคิด ได้แก่

  1. คำนวณความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน 
  2. คำนวณความสามารถในการกู้หรือวงเงิน 
เงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือน
(บาท)
ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน
(กรณีกำหนดไม่เกิน 50% ของรายได้)
วงเงินกู้สูงสุดโดยประมาณ
(บาท)
15,0007,5001,074,429
20,000 10,0001,428,571
30,00015,0002,142,857
40,00020,0002,857,143
50,00025,0003,571,428
60,00030,0004,285,714
100,00050,0007,142,857

หมายเหตุ: สูตรการคำนวณดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น หากผู้ยื่นกู้ต้องการทราบข้อมูลแบบละเอียดชัดเจน แนะนำให้ทำการติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคาร ธอส.

แนะนำสินเชื่อบ้าน ธอส.​ ที่ให้วงเงินได้สูงกว่า

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณน่าจะพอได้คำตอบคร่าวๆ ว่าความสามารถในการกู้บ้านของคุณหรือวงเงินที่น่าจะได้รับจากธนาคารอยู่ที่เท่าไร ทั้งนี้ หากผู้กู้เลือกขอสินเชื่อกับธนาคารอาหารสงเคราะห์ หรือ ธอส. คุณมีโอกาสได้วงเงินสินเชื่อบ้านที่สูงกว่าธนาคารอื่น เนื่องจากสามารถเลือกผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 40 ปี (โดยผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 70 ปี)

เมื่อผ่อนชำระได้ยาวนานขึ้น (ธนาคารโดยทั่วไปจะให้ระยะเวลาผ่อนชำระเพียง 30 ปี) ภาระในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านแต่ละงวดจะถูกลง ทำให้เมื่อนำมาคำนวณวงเงิน จึงมีโอกาสได้วงเงินที่สูงกว่า 

อย่างไรก็ตาม ในการให้วงเงินยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ธนาคารจะนำมาพิจารณา ซึ่งแตกต่างไปตามเงื่อนไขของแต่ละบุคคล 

Compare listings

Compare