บทความนี้มาดูกันว่า ก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านมือสอง จะต้องตรวจเช็คในเรื่องไหนบ้าง และนอกจากเรื่องของสภาพบ้านต้องตรวจเช็คอะไรเพิ่มเติมอีก
ขอขอบคุณบทความจาก GHBank
ซื้อบ้านมือสอง เป็นหนึ่งในทางเลือกของคนอยากมีบ้าน ที่ต้องการบ้านในทำเลดี มีโครงสร้างบ้านเดิมอยู่แล้ว เพียงแค่ซื้อมารีโนเวทก็ดูสวยพร้อมอยู่ เหมือนได้บ้านใหม่ในราคาที่สบายกระเป๋า
แต่ในการซื้อบ้านสอง มีสิ่งที่ต้องเช็คให้ดี เพื่อป้องกันการถูกหลอก จากการปกปิดปัญหาของบ้านที่เกิดขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อการเข้าอยู่ ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มจำนวนมากเพื่อซ่อมแซมให้บ้านกลับมาแข็งแรง
บทความนี้มาดูกันว่า ก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านมือสองสักหลังหนึ่ง จะต้องตรวจเช็คในเรื่องไหนบ้าง และนอกจากเรื่องของสภาพบ้านต้องตรวจเช็คอะไรเพิ่มเติมอีก เพื่อให้การซื้อบ้านมือสองคุ้มค่า มีความสุขต่อการอยู่อาศัยได้มากที่สุด
ทำไมต้องตรวจบ้านมือสองก่อนซื้อ

บ้านมือสอง คือ บ้านที่เจ้าของบ้านตัดสินใจขายต่อให้กับเจ้าของใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นที่ราคาของบ้านจะถูกลงกว่าบ้านใหม่มือหนึ่ง แต่บ้านมือสองเป็นบ้านที่เคยผ่านการอยู่อาศัยมาแล้ว ตัวบ้านจึงเกิดการเสื่อมสภาพตามระยะเวลาและการใช้งานจากเจ้าของเดิม
ซึ่งถ้าหากไม่มีการตรวจเช็คสภาพบ้านก่อนการซื้อ โดยดูแค่จากภาพถ่ายหรือจากดูจากภายนอกเพียงอย่างเดียวแล้วตัดสินใจซื้อ ก็อาจเจอปัญหาใหญ่ภายหลังที่ทำให้ต้องเสียเงินก้อนใหญ่เพื่อซ่อมแซม จนทำให้รู้สึกไม่คุ้มค่ากับการซื้อมา
ซื้อบ้านมือสองอย่างไรให้ปลอดภัย [เช็คทุกจุดก่อนซื้อ]การตรวจเช็คบ้านมือสองก่อนซื้อ ไม่ใช่แค่เรื่องของราคาบ้านที่ถูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อน โดยสิ่งที่ต้องตรวจเช็คมีดังนี้
1. ตรวจสอบข้อมูลของบ้าน
เป็นข้อมูลเกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง ว่าบ้านที่เรากำลังจะซื้อนั้น อยู่ในทำเลที่จะไม่เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต เช่น
- บ้านอยู่ในพื้นที่เวนคืนเพื่อก่อสร้างทางด่วน หรือในพื้นที่เวนคืนตัดถนน โดยสามารถตรวจสอบได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าซื้อบ้านในบริเวณเหล่านี้ไปแล้ว อนาคตมีโอกาสถูกเวนคืนที่ดิน ทำให้เราต้องไปหาที่อยู่ใหม่ ที่ต้องเสียทั้งเงินและเวลามากยิ่งขึ้น
- ใบอนุญาตก่อสร้าง เพื่อดูบ้านมือสองที่กำลังจะซื้อมีการก่อสร้างผิดแบบ หรือมีการต่อเติมที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะในอนาคตหากถูกตรวจพบ ทางสำนักงานเขตก็สามารถสั่งรื้อถอนบ้านได้
2. ตรวจสอบโฉนดที่ดิน
โดยเฉพาะเรื่องของความถูกต้องของโฉนดที่ดิน โดยให้ตรวจสอบดังนี้
- โฉนดที่ดินมีข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ผ่านการปลอมแปลง เช่น อาจมีการติดจำนองอยู่ แต่มีการปลอมแปลงข้อมูลว่าบ้านปลอดจำนอง ทำให้อาจเกิดปัญหาหลังจากที่ซื้อไปแล้ว
- ดูเจ้าของกรรมสิทธิ์ ว่าเป็นคนเดียวกับผู้ขายหรือได้รับอนุญาตให้ติดต่อซื้อขายจากเจ้าของหรือไม่ เพราะอาจมีการสวมรอยเป็นเจ้าของบ้าน แล้วเกิดการโกงมัดจำ ทำให้เกิดความเสียหาย และอาจทำการซื้อบ้านได้ไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้านตัวจริง
สำหรับวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของโฉนด สามารถทำได้โดยการนำสำเนาโฉนดไปตรวจสอบกับกรมที่ดิน หรือส่งให้ธนาคารประเมินราคา ก็จะช่วยยืนยันข้อมูลความถูกต้องของโฉนดก่อนตกลงซื้อขายได้
3. ตรวจสอบสภาพของตัวบ้านทั้งภายในและภายนอก
บ้านมือสอง ยิ่งมีอายุยาวนานตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาในเรื่องของโครงสร้างบ้านแสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ผนัง คาน พื้น เสา ที่เกิดเป็นรอยร้าวขึ้นมา
โดยจะต้องตรวจสอบให้ละเอียดทั้งภายในภายนอกบ้าน เพื่อให้สามารถประเมินสภาพบ้าน พร้อมเตรียมตัวในการซ่อมแซมเอาไว้
สำหรับจุดสำคัญที่ต้องเช็คให้ดีมีดังนี้
บริเวณภายนอกตัวบ้าน
- ความสูงของถนนหน้าบ้าน เริ่มจากก่อนเดินเข้าบริเวณบ้าน ให้สังเกตดูว่าถนนหน้าบ้านสูงกว่าตัวบ้านหรือไม่ เพราะบ้านที่สร้างนานแล้ว อาจมีการถมถนนหน้าบ้านขึ้นใหม่ที่สูงกว่าตัวบ้าน ทำให้เมื่อฝนตกมีโอกาสน้ำท่วมตัวบ้านได้ง่ายๆ
- พื้นรอบตัวบ้าน โดยบริเวณพื้นนอกบ้านส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างปูนบนวางดิน ทำให้โอกาสพื้นทรุดตัวมีสูง
- ต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน ถ้าหากมีต้นไม้ใหญ่ใกล้ตัวบ้านหรือใกล้กำแพงบ้าน ให้เช็คว่ามีรอยแตกร้าวจากรากที่ชอนไชหรือไม่
- สภาพของผนัง และสีของผนังนอกบ้าน โดยผนังบ้านเก่าส่วนใหญ่ที่เป็นปูน จะเกิดร่องรอยด่าง สีบวม สีหลุดล่อน หรือคราบเชื้อรา จุดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการทาสีใหม่
- หลังคาบ้าน โดยให้สังเกตด้วยตาเปล่า เพื่อดูว่ามีหลังคาบ้านที่แตกร้าว หลุดออก หรือเสียหายหรือไม่ เพราะในช่วงหน้าฝนอาจทำให้น้ำรั่วเข้าทางฝ้าเพดานบ้านได้
บริเวณภายในตัวบ้าน
- คานและเสา โดยให้ดูว่าเสาบ้านตั้งฉากกับพื้น ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนี่ง รวมถึงสังเกตรอยแตกร้าวบริเวณเสาและคานให้ดู หากเป็นรอยแตกร้าวลึกเข้าไป อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านได้
- ฝ้าเพดาน ดูว่ามีร่องรอยของน้ำซึม หรือการแตกร้าวหรือไม่ เพื่อหาต้นตอของปัญหาและแก้ไข
- พื้นบ้าน ดูว่าจุดไหนมีร่องรอยการแตกร้าวหรือไม่ และร่องรอยนั้นเป็นผลกระทบจากโครงสร้างบ้านที่ผิดปกติหรือไม่
- ขอบวงกบ ดูว่ามีร่องรอยการแตกร้าวหรือไม่ เพราะอาจส่งผลให้น้ำซึม หรือแมลงเข้าบ้านได้ง่าย
- ระบบประปา โดยสามารถตรวจเช็คการรั่วซึมได้จากการปิดก๊อกน้ำทุกจุดในบ้าน ถ้ามิเตอร์น้ำยังวิ่งอยู่ ก็อาจมีท่อรั่วซึมเกิดขึ้น
- ระบบไฟฟ้า โดยให้ดูตั้งแต่สายไฟ ปลอกสายไฟ สวิตช์ไฟตามจุดต่างๆ ในบ้าน ถ้ามีรอยแตกร้าวหรือรอยไหม้ อาจเป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัย ควรวางแผนในการเปลี่ยนใหม่
ในเรื่องของการตรวจสอบภาพบ้านและโครงสร้าง คุณอาจจะมองเห็นด้วยตาเปล่าแต่อาจยังไม่สามารถประเมินความแข็งแรงหรือสภาพเองได้
ในการเข้าตรวจเช็คจึงควรมีวิศวกรที่เชี่ยวชาญมาตรวจสอบร่วมด้วย จึงจะช่วยไขความกระจ่างว่าบ้านหลังนี้ ซื้อมาแล้วคุ้มค่าหรือไม่ พร้อมช่วยประเมินเบื้องต้นได้ ถึงงบประมาณที่ต้องเตรียมเอาไว้ในการซ่อมแซมบ้านให้แข็งแรง และปลอดภัยก่อนเข้าอยู่
4. ตรวจสอบสภาพแวดล้อมในทำเลของบ้าน
นอกจากเรื่องของตัวบ้านแล้ว อย่าลืมตรวจเช็คสภาพแวดล้อมในทำเลของบ้านให้ดีก่อน เพราะบ้านบางหลังอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางเข้าออก เช่น อยู่ในซอยแคบ ไม่มีที่จอดรถ รถเข้าออกไม่ได้ เพื่อประเมินก่อนว่าทำเลที่ตั้งของบ้าน เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไม่
แนะนำช่องทางซื้อบ้านมือสองไม่ให้โดนหลอก
นอกจากการซื้อบ้านมือสองกับเจ้าของบ้านโดยตรงแล้ว คุณยังสามารถเลือกซื้อบ้านมือสองกับธนาคาร ที่ช่วยให้คุณสบายใจในการซื้อ เพราะบ้านมือสองทุกหลังจะผ่านการคัดสรรคุณภาพมาอย่างดี สภาพบ้านพร้อมอยู่ ติดต่อซื้อขายได้ง่าย พร้อมขอสินเชื่อกับธนาคารได้อีกด้วย
ซื้อบ้านมือสองกับ ธอส. ได้จากที่ไหนบ้าง?
ธอส. มีบ้านมือสองคุณภาพดี บนทำเลทอง พร้อมราคาที่คุ้มค่า ให้คุณเลือกซื้อได้มากกว่า 10,000 รายการทั่วประเทศ โดยคุณสามารถเลือกดูบ้านมือสองได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.ghbhomecenter.com และ Mobile Application : GHB ALL HOME พร้อมดูข้อมูล นัดหมายเข้าชม และจองซื้อทรัพย์ได้เลย
สินเชื่อจาก ธอส. ช่วยให้คุณเลือกซื้อบ้านมือสองที่ต้องการได้
ในการเลือกซื้อบ้านมือสองที่ถูกใจ หากซื้อผ่านธนาคารแล้ว จะช่วยให้คุณสบายใจได้ ว่าบ้านมือสอง พร้อมเข้าอยู่ ตรงกับความต้องการ มีหลายทำเล ทั่วประเทศ ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกหลอก พร้อมขอสินเชื่อบ้านมือสองกับ ธอส. ได้เลย